บ้านชั้นเดียวสไตล์มินิมอล
บ้านชั้นเดียวสไตล์มินิมอล เอาใจคนรักเส้นสายเรียบน้อย ด้วย แบบบ้านมินิมัลชั้นเดียว ในลุคขาวๆคลีนๆ ผสมผสานการใช้วัสดุไม้ ได้บรรยากาศเรียบง่าย แต่ยังดูอบอุ่น และด้วยความเป็นบ้านชั้นเดียว จึงเหมาะกับคนทุกช่วงวัยอีกด้วย
บ้านมินิมัลสีขาวทรงจั่วที่รีโนเวตจากบ้านร้าง
- เจ้าของ : คุณณัฐธิดา ห่านศรีสุข
- ออกแบบ : Anatomy Architecture + Atelier
รีโนเวตบ้านที่ปล่อยร้างแบบพลิกโฉมใน 90 วัน เป็น แบบบ้านมินิมัล สีขาวเรียบเท่ สำหรับเป็นบ้านตากอากาศของครอบครัวที่เขาใหญ่ โดยวางผังแบ่งห้องเหมือนเดิม แต่ปรับจาก 4 ห้องนอน ให้เหลือ 3 ห้องนอน และเปลี่ยนห้องนอนอีกห้องเป็นห้องพักผ่อน โดยออกแบบการเชื่อมต่อพื้นที่ใหม่ และเปลี่ยนภาษาสถาปัตยกรรมให้เรียบง่ายและอบอุ่น
จากความตั้งใจของ คุณกาล-ณัฐธิดา ห่านศรีสุข ที่อยากหาบ้านตากอากาศริมทะเล แต่ด้วยคำเชิญชวนของเพื่อนคุณแม่ให้มาดูบ้านในโครงการจัดสรรบริเวณเขาใหญ่ ซึ่งมีบ้านปล่อยร้างไว้หลายหลัง จนมาถูกใจบ้านหลังนี้ที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่และธรรมชาติสวยงาม โดยรีโนเวตแบบพลิกโฉมเป็น บ้านมินิมัลสีขาวทรงจั่ว เรียบเท่ สำหรับเป็นบ้านตากอากาศของครอบครัว และเปิดให้เช่าในวันที่ไม่ได้ใช้งาน
“บ้านผีสิง” เป็นความรู้สึกแรกของคุณกาล เมื่อมาเห็นบ้านเก่าอายุร่วม 30 ปีหลังนี้ที่ถูกทิ้งร้างเป็นรังนกพิราบ แต่ก็ตัดสินใจซื้อไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างกัน จึงคิดทำบ้านพักตากอากาศของครอบครัวที่อยู่สบาย สะดวก สะอาด ปลอดภัย และมีการบำรุงรักษาต่ำ จึงกลับมารีโนเวตบ้านร้างหลังนี้ พร้อมตั้งโจทย์ให้สร้างเสร็จภายใน 90 วัน ส่วนการออกแบบยกให้เป็นหน้าที่ของ คุณเอ-ธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และ คุณกาญจน์- กนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์ แห่ง Anatomy Architecture + Atelier (AA+A) โดยเจ้าของไม่ได้จำกัดเรื่องสไตล์การออกแบบ เพราะเคยเห็นผลงานของสถาปนิกอยู่แล้ว ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถดีไซน์ของธรรมดาให้สวยงามโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ
ลดทอนให้เรียบง่าย
บ้านเดิมเป็นบ้านทรงจั่วมุงหลังคากระเบื้องคอนกรีตที่นิยมในยุคนั้น มีสภาพทรุดโทรม แต่โครงสร้างหลักยังมีสภาพดีอยู่ ด้วยโจทย์ที่ต้องการเก็บโครงสร้างเดิมที่ยังดีอยู่ไว้ทั้งหมด เพื่อความรวดเร็วและประหยัดงบประมาณ แต่ต้องเปลี่ยนลุคใหม่ และรองรับสำหรับครอบครัว 5-6 คน สถาปนิกจึงเสนอการรีโนเวตเป็นบ้านสไตล์มินิมัลโมเดิร์น ที่วางผังแบ่งห้องเหมือนเดิม แต่ปรับจาก 4 ห้องนอน ให้เหลือ 3 ห้องนอน และเปลี่ยนห้องนอนอีกห้องเป็นห้องพักผ่อน โดยออกแบบการเชื่อมต่อพื้นที่ใหม่ และเปลี่ยนภาษาสถาปัตยกรรมให้เรียบง่ายและอบอุ่น
ก่อนการรีโนเวตนั้น หน้าบ้านเดิมมีมุกหลังคายื่นมาตรงกลางอาคาร และมีคอมเพรสเซอร์วางเรียงตรงระเบียง สถาปนิกจึงวิเคราะห์ปัญหาและลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกให้เหลือน้อยที่สุด ให้เกิดความเรียบง่ายที่ชัดเจนมากขึ้น จึงรื้อมุกด้านหน้าออก ย้ายคอมเพรสเซอร์ไปไว้ด้านข้างอาคาร ซึ่งทำเป็นห้องเซอร์วิสที่รวมงานระบบ เพื่อไม่ให้รบกวนความสวยงามของฟาซาด และจัดสัดส่วนช่องเปิด หุ้มเสาเพิ่ม ให้เป็นภาษาใหม่ในโครงสร้างและรูปทรงอาคารเดิมที่เป็นทรงจั่วสูง โดยเปลี่ยนหลังคาใหม่ทั้งหมด จากเดิมเป็นโครงหลังคาไม้ที่ทรุดโทรม เป็นโครงหลังคาเหล็กมุงเมทัลชีตแบบสแนปล็อก บ้านสไตล์ลอฟท์ งบ 5 แสน
ด้วยข้อจำกัดในการออกแบบที่ต้องการเปลี่ยนลุคบ้านโดยแทบไม่มีส่วนต่อขยาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับสถาปนิกที่ต้องค้นหาศักยภาพของสเปซเดิม เพื่อให้ในพื้นที่เท่าเดิมจะขยายคุณภาพของพื้นที่ให้มากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งพบว่าโครงสร้างเดิมมีพื้นที่ใต้หลังคาค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้ใช้งาน เพราะมีการตีฝ้าเพดานเรียบและทำให้ภายในห้องดูเตี้ย จึงออกแบบใหม่โดยทำฝ้าเพดานให้สูงขึ้นตามพื้นที่ใต้หลังคา จึงเป็นที่มาของการออกแบบฝ้าเพดานสูงจากด้านบนให้โค้งลงมารับกับฟังก์ชันห้องน้ำที่ไม่ต้องการฝ้าเพดานสูงมาก เกิดเป็นสเปซที่น่าสนใจ และไม่สูงโล่งเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนขนาดห้อง และใช้แนวคิดเรื่องความสมมาตรให้แสดงถึงความเรียบง่าย โดยออกแบบองค์ประกอบอาคารเดิมที่ค่อนข้างสมมาตรอยู่แล้วให้มีความสมมาตรเด่นชัดขึ้น ด้วยการทำทางเดินหน้าบ้าน สวนหิน และบ่อน้ำพุให้ด้านซ้ายขวาเหมือนกัน
การมาอยู่บ้านชั้นเดียวแบบนี้อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับครอบครัว ด้วยบ้านที่อยู่ปัจจุบันมีลักษณะเป็นตึก ครอบครัว 5 คนที่มีคุณพ่อคุณแม่และพี่น้องจะแยกกันอยู่คนละชั้น เจ้าของบ้านจึงอยากทำบ้านตากอากาศเป็นบ้านชั้นเดียวที่ทุกคนจะได้มาใช้เวลาร่วมกัน เป็นห้องที่เชื่อมต่อถึงกันได้ “ชอบที่บ้านมีเฉลียงใหญ่ซึ่งทุกห้องเปิดออกมาก็จะเจอกัน ที่นี่ในช่วงฤดูหนาวจะหนาวจริงๆ ซึ่งเราจะออกไปนั่งผิงไฟ กินหมูกระทะกันที่เฉลียง ตอนเช้าปั่นจักรยานรอบหมู่บ้านด้วยกัน และไม่ลืมที่จะใช้วัสดุต่างๆที่ทำความสะอาดง่ายเพื่อให้น้องหมามากับเราได้ด้วย
“ตอนแรกจะไปหาบ้านตากอากาศที่เขาหลัก จังหวัดพังงา และไม่ได้มีความประทับใจกับเขาใหญ่เป็นพิเศษ แต่พอได้มาพักผ่อนช่วงฤดูหนาว รู้สึกว่าอากาศดีมาก และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้ยามที่ต้องการผ่อนคลาย หรืออยากปลีกตัวมาคิดงานเงียบๆ ก็สามารถมาได้เลย เมื่อได้มาอยู่กับธรรมชาติทำให้ความคิดปลอดโปร่ง” เป็นความเงียบสงบอันเรียบง่ายที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติงดงาม และคืนสมดุลให้ทุกชีวิตที่ได้มาสัมผัส ณ ที่แห่งนี้
บ้านชั้นเดียวของคนวัยเกษียณ
- เจ้าของ : คุณดวงทิพย์และคุณพิเชฐ อิฐกอ
- สถาปนิก : Pijic Architect โดยคุณศรายุทธ ใจคำปัน
- ภาพ : Pijic Architect
แบบบ้านมินิมัล ของวัยเกษียณ ที่ออกแบบให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ตลอดทั้งวันและตลอดทุกฤดูกาล ไม่จำกัดกับกาลเวลา เน้นฟังก์ชันแนวราบไม่มีสเต็ปต่างระดับ ในพื้นที่ขนาดย่อมซึ่งดูแลง่ายและทั่วถึง ทำให้บ้านนี้มีชื่อเรียกว่า “บ้านอกาลิโก” รูปแบบบ้านที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมาคล้ายๆ กล่องเป็นแนวคิดแรกที่เจ้าของบ้านนึกถึง เพราะต้องการให้ดูเรียบ ดูแลง่าย และอยู่ในโทนสีขาวผสมด้วยวัสดุไม้สีสบายตา พร้อมกับอยากให้มีพื้นที่สีเขียวส่วนตัวซ่อนอยู่ภายในเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายกลางธรรมชาติ
“เราเล็งหาซื้อที่ดินกันอยู่หลายปีเหมือนกันจนมาเจอที่ดินแถวดอยสะเก็ดใกล้เมืองแต่ยังมีวิวของที่นาสวยๆ ให้มองสบายตา จากนั้นก็เริ่มมองหาสถาปนิกมาออกแบบบ้านให้ แล้วก็เปิดนิตยสารบ้านและสวนนี่แหละจนได้รายชื่อสถาปนิกมา 4-5 คนที่ถูกใจ พอได้คุยแล้วถึงตัดสินใจเลือกคุณแซม-ศรายุทธ ใจคำปัน จาก Pijic Architect เพราะชอบผลงานบ้านที่เขาออกแบบ ซึ่งคุณแซมก็แนะนำให้เปลี่ยนทำเลมาสร้างบ้านในหมู่บ้านวังตาล ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเหมือนกัน และมีสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ดี รวมถึงความปลอดภัยในแบบของหมู่บ้านที่ทำให้เราอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจ”
รูปแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมาคล้ายๆ กล่องเป็นแนวคิดแรกที่เจ้าของบ้านนึกถึง เพราะต้องการให้ดูเรียบ ดูแลง่าย และอยู่ในโทนสีขาวผสมด้วยวัสดุไม้สีสบายตา พร้อมกับอยากให้มีพื้นที่สีเขียวส่วนตัวซ่อนอยู่ภายในเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายกลางธรรมชาติ บ้านทรง A-frame
คุณแซม ผู้เป็นสถาปนิกจึงได้ออกแบบบ้านให้เป็นแบบชั้นเดียวขนาดย่อม ยกสูงจากพื้นดินราว 1 เมตรเพื่อป้องกันปัญหาความชื้นและเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภายในมีพื้นที่ใช้สอย 262 ตารางเมตร เน้นการวางผังให้ทุกพื้นที่เชื่อมต่อและมีปฎิสัมพันธ์กันได้ง่าย แต่ละพื้นที่เต็มไปด้วยตัวตนและความชอบจากเจ้าของบ้านซึ่งออกไปในสไตล์ญี่ปุ่นผสมสแกนดิเนเวียนที่นุ่มนวล อบอุ่นด้วยงานไม้ และโปร่งโล่งอยู่สบาย ที่สำคัญยังจัดวางฟังก์ชันและเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่คำนึงถึงการใช้งานและความปลอดภัยในระยะยาวเมื่อเจ้าของบ้านอายุมากขึ้นด้วย
พื้นที่ในบ้านประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัวฝรั่งที่มีไอส์แลนด์ พร้อมกับห้องนอนและห้องน้ำ รวมถึงห้องสะสมโมเดลรถไฟและของสะสมอื่นๆ ที่เป็นความชอบส่วนตัว โดยแต่ละห้องเชื่อมต่อกันไปภายใต้รูปทรงอาคารทรงกล่องที่วางเรียงล้อมคอร์ตสวนต้นไม้ตรงกลางไว้ ทำให้ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอยู่ตรงมุมไหนของบ้านก็สามารถมองเห็นและสื่อสารกันได้ รวมถึงเปิดมุมมองออกสู่คอร์ตสวนต้นไม้โล่งๆ กลางบ้านซึ่งมีระเบียงกว้างกลางแจ้งให้ทั้งเจ้าของบ้านและน้องหมาใช้งานได้สบาย
“ตอนบ้านสร้างเสร็จใหม่ ๆก็พอดีเกิดเหตุการณ์โควิดขึ้น เราเลยได้ย้ายมา Work from Home กันที่บ้านเชียงใหม่หลังนี้เลย มาอยู่แล้วรู้สึกสบายมาก ทิศทางของบ้านก็รับแสงและลมธรรมชาติได้ดี อย่างห้องนอนที่อยู่ทางทิศตะวันออกทำให้ได้แสงอุ่น ๆในตอนเช้า ครัวอยู่ทางทิศตะวันตกก็จะแห้งสะอาดดี เวลาเปิดบ้านก็ยังได้ลมจากทิศใต้ที่เย็นสบาย ยิ่งช่วงหน้าหนาวอากาศยิ่งดีมาก ๆ หน้าบ้านเราปลูกแคนาต้นใหญ่และมีต้นลีลาวดี ส่วนคอร์ตกลางบ้านเป็นชงโคและเสม็ดแดงที่เป็นไม้ประธาน เป็นต้นไม้ที่โตช้าแต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันค่อย ๆเติบโตไปกับบ้านนะ บางวันเราอยู่ในบ้าน บางวันออกมารับลมตรงคอร์ด เรียกว่าใช้ทุกมุมของบ้านแล้วชอบหมดเลย เพราะในบ้านก็ไม่มีสเต็ป และมีประตูกว้าง ๆเผื่อวีลแชร์ได้ มีพื้นที่ให้ปลูกพืชผักสวนครัว กับที่วิ่งเล่นของน้องหมา เชื่อว่าเราสามารถใช้ชีวิตอยู่กันไปได้สบายหลังเกษียณแน่นอน”